จิบเพื่อการเรียนรู้ … ดูเพื่อการต่อยอด

       ชวนแวะเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านโนนหนองลาด ดูโรงเหล้ากลั่น และชิมสาโทพ่อสวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง อ.น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ถือเป็นวันที่อากาศดีอีกวันในเวลาช่วงเย็นๆแดดร่มลมตกบรรยากาศเหมาะแก่การร่ำสุราแบบจิบเบาผมได้รับเชิญจาก CEA องค์กรเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประจำ TCDC อีสานให้เข้าร่วมเสวนาพูดคุยกับเครือข่ายผู้ผลิตสุราชุมชนภาคอีสานเป็น Talk เล็กๆในวงอาหารค่ำที่บ้าน “พ่อสวาทอุปฮาด” อ.น้ำพองจังหวัดขอนแก่น 

พ่อสวาท อุปฮาด

พ่อสวาทเป็นบุคคลที่รู้จักกันในนามของ ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ ผู้ที่พยายามสร้างเครือข่ายทางสังคมของการขับเคลื่อนทางภูมิปัญญาต่างๆของอีสานโดยเฉพาะภูมิปัญญาทางด้านอาหารและความเป็นอยู่ของผู้คนซึ่งพ่อสวาทไม่ใช่เพียงแตะประเด็นเหล่านี้แค่เพียงผิวเผินแต่ขุดคุ้ยจนถึงต้นตอของปัญหาความเป็นอยู่นั่นก็คือการจัดสรรพื้นที่ทำกินและต้นตอของปัญหาความยากจนพ่อสวาทได้ขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายๆประเด็นอีกทั้งยังเป็นแกนนำสมัชชาคนจน ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ ซึ่งติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นป่าไม้ที่ดินและเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคอีสาน พ่อสวาทได้เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ. เหล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ซึ่งก็สำเร็จและมีการออก พ.ร.บ. จดแจ้งเหล้าพื้นบ้านใน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

ในวันนี้เราตั้งใจนั่งรถตู้มาที่ไร่พ่อสวาทโดยขับรถออกจากตัวเมืองขอนแก่นใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงออกจากตัวเมืองไม่ไกลผ่านเส้นรอบเมืองออกไปก็จะพบกับวิวทุ่งนาข้างทางทอดยาวออกไปสุดลูกหูลูกตาถนนเป็นทางลาดยางทางหลวงชนนบทและเลี้ยวลงไปก็จะเป็นทางลูกรังตามประสาถนนหนทางไปนาข้างทางมีคลองน้ำเป็นระยะวิวข้างทางขนาบข้างด้วยทุ่งนาเขียวชะอุ่มดูเหมือนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ

เมื่อเดินทางถึงที่ไร่ก็เจอกับพ่อสวาทเป็นครั้งแรกพร้อมกับขวดโหลหมักที่ตั้งเรียงรายมากกว่า 20 โหลเป็นความประทับใจในครั้งแรกเราทักทายกันและเริ่มการแนะนำทำความรู้จักกันซึ่งจะมีทีมงานของทาง CEA,TCDC Khon Kaen ,พี่เจ็ตเจ้าของร้าน Craft Beer ในขอนแก่นมาร่วมด้วย

นั่งคุยกันทำความรู้จักกันได้ไม่นานก็เริ่มมีอาหารมาเสิร์ฟเริ่มจากผักเคียงถาดโตๆดูเขียวชะอุ่มในถาดประกอบไปด้วยผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นผักแพรวผักสะเดาผักสะระแหน่ยอดมะตูมสำหรับกินกับลาบเป็นต้นและถัดจากนั้นก็มีลาบหมูตำลาวหลวงพระบางผัดผักปรังน้ำมันหอยปิ้งปลายอนต้มส้มปลายอนแบบพื้นบ้านใส่ใบมะขามใบกัญชาซดเข้าไปแล้วชื่นใจมากทั้งหอมและนัวยิ่งมีสาโทพ่อสวาทจิบไปด้วยกับมื้ออาหารยิ่งช่วยชูรสชาติของอาหารได้เป็นอย่างดี

ในระหว่างอาหารทะยอยเสิร์ฟเราก็ทานไปด้วยและพูดคุยกันถึงประเด็นอาหารการกินพื้นบ้านอีสานที่มีความหลากหลายในแต่ละฤดูกาลและวัตถุดิบต่างๆที่เป็นของพื้นถิ่นซึ่งบางอย่างกำลังจะหายไปเพราะธรรมชาติลดลงและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนแต่ก่อนแสดงให้เห็นว่าความเป็นพื้นถิ่นมีความสัมพันกับธรรมชาติโดยตรงเพราะแต่ก่อนเรากินไปด้วยอนุรักษ์ไปด้วยเก็บผักล่าสัตว์ก็เอามาแต่พอกินคนพื้นถิ่นเค้ามีจิตวิญญาณของการอนุรักษ์อยู่ในทุกช่วงขณะลมหายใจอยู่แล้วเพราะถ้าวัตถุดิบเหล่านั้นหายไปเขาเองก็จะขาดอาหารเพราะคนพื้นถิ่นสมัยก่อนหากินกับธรรมชาติอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติตลอดเวลาก็จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตลอดเวลาเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรไม่เหมือนสมัยนี้ที่เราบริโภควัตถุดิบที่มาจากอุตสาหกรรมกินอะไรก็เหมือนๆกันคนค่อยๆห่างไกลจากอาหารพื้นถิ่นพื้นบ้านมากขึ้นเรื่อยๆและเมื่อไม่เกิดการกินการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านเราก็จะขาดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติเราจะไม่รู้ว่าปีนี้วัตถุดิบชนิดไหนหายไปหรือฤดูไม่มีอะไรให้กินเราจะขาดการรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

การไม่บริโภควัตถุดิบพื้นบ้านไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่เป้าหมายของพ่อสวาทคือการทำให้คนมีตัวเลือกในการบริโภคมากขึ้นไม่ใช่ว่าอาหารหรือเนื้อสัตว์ที่กินได้จะต้องเป็นแค่หมูกับไก่ที่มาจากห้างสรรพสินค้าเท่านั้นแต่ยังมีอาหารอีกหลายหลายมากมายที่เราสามารถกินได้วัตถุดิบบางอย่างก็มีส่วนที่สัมพันกันโดยตรงกับธรรมชาติและระบบนิเวศมันควรจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คนสามารถเข้าถึงได้เมื่อคนมีตัวเลือกในการบริโภคมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรเชิงเดี่ยวให้ธรรมชาติขาดสมดุลย์มันคือ “ความยั่งยืนทางอาหาร” 

นอกจากการพูดคุยกันถึงเรื่องของอาหารและวัตถุดิบพื้นถิ่นแล้วเนื้อหาที่สำคัญของการมาบ้านพ่อสวาทในครั้งนี้ก็คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับเรื่องของเครื่องดื่มสุราพื้นถิ่นและการแปรรูปผลผลิตที่มีในชุมชนให้เป็นเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ซึ่งการผลิตเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ของประชาชนรายย่อยยังมีกฎหมายควบคุมอีกทั้งยังปิดกั้นการโฆษณาด้วยพรบ. คอมพิวเตอร์ทำให้สุราพื้นถิ่นและเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ที่ประชาชนผลิตเองไม่เป็นที่กล่าวถึงทั้งที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ในประเทศไทยแทบจะอยู่อันดับต้นๆของโลกแต่ทำไมประชาชนรายย่อยรวมทั้งเกษตรกรชาวบ้านถึงไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้สอยจับจ่ายแต่กลับเป็นนายทุนรายใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ประเภทผูกขาดการขายเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ในประเทศไทยทั้งที่เรามีภูมิปัญญาการผลิตเครื่องดื่มมาตั้งแต่อดีตเช่นการผลิตสาโทน้ำขาวเหล้ากลั่นหวากเป็นการใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นแปรรูปเป็นเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ไว้ดื่มเองโดยเฉพาะในเทศกาลงานสำคัญต่างๆเราจะพบเห็นเครื่องดื่มที่พื้นถิ่นผลิตเองอยู่เสมอ 

เรามีวัฒนธรรมการดื่มและการผลิตเครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์มานมนานตั้งแต่อดีตกาลแต่ทำไมปัจจุบันมันเริ่มหายไปและไม่มีให้เห็นเป็นเรื่องกระแสหลักเหมือนฝั่งทวีปยุโรปที่ผลิตไวน์แล้วกระจายส่งออกไปขายทั่วโลกหรือที่ชัดเจนที่สุดคือการบริโภคเครื่องดื่มเกาหลีเป็นที่ขายดีมากในประเทศไทยตอนนี้ทั้งที่เครื่องดื่มแทบจะเหมือนกันกับของพื้นบ้านไทยแต่ของเกาหลีสามารถขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มที่ร่วมสมัยไม่ว่าจะเป็นสาโทเกาหลีมักกอลลีที่ทำจากข้าวเหมือนกันกับสาโทพื้นบ้านไทยเป็นเครื่องดื่มที่ชาวนาทำเป็นภูมิปัญญาที่มีมานานแต่กลับได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

เราพูดคุยหารือกันในประเด็นของความเป็นพื้นถิ่นในขณะเดียวกันก็มีอาหารพื้นถิ่นทยอยมาเสิร์ฟเรื่อยๆและสาโทก็รินมาไม่ขาดสายยิ่งเพิ่มอรรถรสในการพูดคุยให้เข้มข้นขึ้นอย่างไรก็ดีประเด็นเหล่านี้ยังต้องหารือกันต่อไปและเดินหน้าผลักดันให้เกิดการพัฒนาของภูมิปัญญาพื้นถิ่นในเชิงนโยบายเพราะถ้าไม่เกิดการแก้ไขทางกฏหมายหรือไม่มีการออกนโยบายจากทางส่วนกลางประชาชนตัวเล็กตัวน้อยผู้ประกอบการรายย่อยก็ต้องเสียผลประโยชน์ให้กับช่องโหว่ทางกฏหมายต่อไป 

ท้ายที่สุดก็ต้องขอบคุณ CEA ,TCDC Khon Kaen ที่ทำให้เกิดวงเสวนาบนโต๊ะอาหารในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนที่ออกรสออกชาติมีอาหารพื้นบ้านให้ทานอย่างอิ่มหนำเคล้ากับเครื่องดื่มหลากหลายชนิดท่ามกลางบรรยากาศฝนตกกลางท้องทุ่งนา  เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ได้เมาไปกับสาระความรู้ จิบไปเรียนรู้กันไป ….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *