“สาโท” คืออะไร?
“สาโท” (Sato) ที่เรารู้จักกันในนามของเครื่องดื่ม จริงๆ แล้ว “สาโทคืออะไรกันแน่” วันนี้เราจะมาแนะนำให้รู้จักกับที่มาที่ไปของสาโท
“สาโท” เป็นคำนามในภาษาไทย ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2545 ได้ระบุไว้ว่า สาโท คือ น้ำเมาที่ได้จากการหมัก เช่น น้ำข้าว อุ กระแช่. (ป.สาโท ว่ายินดี)

ความหมายของสาโท
สาโท (Sato beverage) หมายถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ผ่านการกลั่น โดยจัดอยู่ในหมวด “สุราแช่” เช่นกันกับเครื่องดื่มประเภทไวน์ , ไวน์ซ่า (Sparkling Wine) ซึ่งสาโทเกิดจากการนำข้าวมาผ่านกรรมวิธีการหมักสาโท โดยการนำข้าวมาหมักกับลูกแป้งสาโท ซึ่งมีส่วนผสมของเชื้อรา และยีสต์อยู่ในก้อนเดียวกัน ซึ่งราทำหน้าที่เปลี่ยนแป้งที่อยู่ในข้าว ให้กลายเป็นน้ำตาล แล้วยีสต์ก็จะย่อยน้ำตาลให้กลายเป็นแอลล์กอฮอล์ ซึ่งเรียกว่า “น้ำสาโท” ถ้าหากหมักสาโทไปนานๆ ปริมาณแอลล์กอฮอล์ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และถ้าเอาไปกลั่นก็จะกลายเป็นเหล้าขาว ให้ปริมาณแอลล์กอฮอล์ได้สูงถึง 55-70% เลยทีเดียว

สาโท จัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในผลิตภัณฑ์จากไวน์ข้าว (rice wine) และมีวิธีการผลิตคล้ายกันกับสาเกญี่ปุ่น (Sake) โดยทางกฎหมายกำหนดให้สาโทที่สามารถวางจำหน่ายได้ ต้องมีปริมาณแอลล์กอฮอล์ไม่เกิน 15%
วัฒนธรรมอีสานกับสาโท
สาโทมีส่วนสำคัญมากทางวัฒนธรรมอีสาน เพราะเป็นเครื่องดื่มที่ทำจากข้าวที่ชาวนาปลูกเอง ทำเอง และดื่มเอง โดยเฉพาะในวันงานประเพณีต่างๆ โดยวิถีชีวิตของชาวอีสานจะมีความผูกพันกับงานประเพณีแทบจะทุกเดือน โดยชาวอีสานเรียกว่าฮีต 12 คอง 14 ซึ่งคำว่า “ฮีต” คือคำว่า จารีต หมายถึง จารีตประเพณีที่ชาวอีสานปฏิบัติกัน ส่วนคำว่า สอบสอง คือ การวางพิธีการทางประเพณี ไว้ทั้งหมด 12 เดือน เป็นการ ผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เป็นแบบ Mix&Match ซึ่งในพิธีการต่างๆ ก็จะมีการเฉลิมฉลอง กินเลี้ยงสังสรรค์กัน มีการจ้างหมอลำ รถแห่ มาให้ความบันเทิงในงาน เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน และที่ขาดไม่ได้เลยคือ “เครื่องดื่ม“


โดยปกติ สาโท จะหมักไว้ดื่มก่อนที่จะมีงานประเพณีหรืองานมงคลต่างๆ ของชาวอีสาน โดยเจ้าภาพจะคำนวณวันที่จัดงาน แล้วเริ่มหมักสาโททิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนวันงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องดื่มสำหรับต้อนรับแขกหรือลูกหลาน ที่มาร่วมงาน
สาโทช่วยเพิ่มอรรถรสทางอาหาร รสหวานออกเปรี้ยวนิดๆ ช่วยเรียกน้ำลายได้เป็นอย่างดีดื่มคู่กับอาหารยิ่งช่วยชูรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้น และยิ่งตอนแอลล์กอฮอล์ออกฤทธิ์พอกึ่มๆ ได้ที่ ความสนุกก็เริ่มมา ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่จะขาดไม่ได้เลย เมื่อมีงานมงคลเฉลิมฉลอง สาโทจึงเป็นเครื่องดื่มที่สำคัญคัญทางวัฒนธรรมอีสานมาช้านาน แต่ในปัจจุบันถูกควบคุมไม่ให้ผลิตดื่มเองที่บ้าน เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมการผลิต ทำให้ความนิยมของเครื่องดื่มสาโท ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในบางชุมชนที่จดแจ้งผลิตแบบถูกกฎหมาย แต่ด้วยกฎหมายใหม่ที่ออกมา ซึ่งว่าด้วยการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลล์กอฮอล์ ยิ่งทำให้สาโทถูกกล่าวถึงน้อยลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามสาโทก็ถือว่าเป็น เครื่องดื่มที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ชนิดหนึ่ง และเป็นตัวเลือกในหลายๆ ตัวเลือกในตลาดให้ผู้บริโภคได้เลือกลิ้มลอง การผลิตสาโทเองก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อการไปข้างหน้าต่อ ต้องมีการต่อยอดให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น เราเชื่อว่าภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมใดๆ ในอดีต ไม่ควรจะถูกยกขึ้นหิ้งเพื่อการอนุรักษ์ไว้เพียงอย่างเดียว มันควรจะจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม และควรเป็นวัฒนธรรมที่กินได้